Euro Zone: อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ เพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุ
Описание
Euro Zone: อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ เพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสยบราคาที่พุ่งทะยานอันมีต้นตอจากสงครามในยูเครน ท่ามกลางคำเตือนว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจก่อภาวะยากจนแก่ผู้คนจำนวนมากในสหภาพยุโรป หรือ อียู
ราคาพลังงานที่พุ่งต่อเนื่องจากปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ผลักให้อัตราเงินเฟ้อรายปีของยูโรโซนแตะระดับ 9.1% ในเดือนสิงหาคม สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา หลังจากก่อนหน้านี้ราคาผู้บริโภคพุ่งแตะ 8.9% ในเดือนกรกฎาคม โดยตัวเลขเงินเฟ้อขยับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 ท่ามกลางความตึงเครียดของห่วงโซ่อุปทานโลก จากนั้นสงครามที่ปะทุขึ้นอย่างฉับพลันในยูเครนเดือนกุมภาพันธ์ และฤดูร้อนของยุโรปที่ก่อภัยแล้ง ได้ส่งผลให้ราคาอาหารพุ่งสูง
โยอาคิม นาเกล ประธานธนาคารกลางเยอรมนี ประกาศว่า ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ควรมีแผนสำหรับปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวในเดือนกันยายน ไม่เช่นนั้น เงินเฟ้ออาจฝังแน่นอยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% เป็นการถาวร
ขณะที่ คาดหมายกันว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่ประชุมครั้งถัดไปวันที่ 8 กันยายน หลังจากปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ทศวรรษ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยที่ผ่านมา ECB คงดอกเบี้ยระดับต่ำเพื่อเปิดทางให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด
ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป แยกเป็นรายประเทศที่น่าสนใจ ฝรั่งเศส ซึ่งเคลื่อนไหวกำหนดเพดานราคาพลังงาน มีอัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุดในยูโรโซน อยู่ที่ 6.5% ในเดือนสิงหาคม แต่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนี อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่ที่ระดับ 8.8% อิตาลี 9% และสเปน 10.3% ส่วนบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียในแถบบอลติก อย่าง เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และลัตเวีย เผชิญกับเงินเฟ้อหนักหน่วงที่สุด อยู่ที่ 25.2% 21.1% และ 20.8% ตามลำดับ
ในอีกด้านหนึ่ง ดาเมียน แอนส์ท ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยลีแอช ในเบลเยียม ให้สัมภาษณ์กับ Atlantico เว็บไซต์ข่าวของฝรั่งเศสว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจก่อภาวะยากจนแก่ผู้คนจำนวนมากในอียู เนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากจะหารายได้ไม่ทันกับค่าใช้จ่ายทางพลังงาน โดยยกตัวอย่างการคาดการณ์ครัวเรือนในเบลเยียม ว่าจะต้องเจอกับบิลค่าไฟและค่าทำความร้อนเฉลี่ยแล้วราว ๆ 10,000 ยูโรต่อปี หรือราว 36,000 บาท
แอนส์ท บอกด้วยว่า วิกฤตพลังงานจะเลวร้ายกว่าวิกฤตการเงินปี 2008 และภาวะช็อกในตลาดน้ำมันช่วงทศวรรษ 1970 เป็นอย่างมาก ซึ่งจะก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานและไฟฟ้า จนนำมาซึ่งการบีบรัดทางการเงิน และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
————
ภาพ: Reuters
#TNNWorldNews #ยูโรโซน #เงินเฟ้อ
#เจาะลึกรอบโลก #TNNOnline
————